การปฏิวัติ ของ พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส

ดูบทความหลักที่: การปฏิวัติ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1910
ฝ่ายปฏิวัติคาร์โบนาเรียตั้งค่ายต่อสู้กับทหารของรัฐบาลที่จัตุรัสโรทุนดา

เสถียรภาพของรัฐบาลได้มาถึงจุดเสื่อมโทรม คณะรัฐบาลถูกตั้งขึ้นมาถึง 7 ชุดและล้มเหลวลงไปภายในระยะเวลา 24 เดือน พรรคการเมืองกษัตริย์นิยมยังคงแตกแยกเป็นฝ่ายๆ ในขระที่พรรคการเมืองสาธารณรัฐนิยมได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น การเลือกตั้งในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ได้มาจากการเลือกตั้งผู้แทนใหม่ทั้ง 14 คน (ผลการเลือกตั้งในรัฐสภาแบ่งเป็น ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม 9%, ฝ่ายรัฐบาล 58% และฝ่ายค้าน 33%)ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการปฏิวัติ แต่ถูกให้ความสำคัญน้อยตั้งแต่สภาเซตูบัล (Setubal Congress; ในวันที่ 24 - 25 เมษายน พ.ศ. 2452) ที่ระบุว่าฝ่ายสาธารณรัฐนิยมใช้อำนาจด้วยการบังคับ[7] การฆาตกรรมแกนนำของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่มีชื่อเสียงคือ นายแพทย์มิเกล บอมบาร์ดาในโรพยาบาลของเขา ได้เป็นชนวนให้การรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นอีกนานได้คืบคลานเข้ามา[8]

หลังจากงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำระหว่างพระเจ้ามานูแวลที่ 2 กับเอร์เมส เดอ ฟอนเซกา ประธานาธิบดีแห่งบราซิลในคราวที่เขาเดินทางเยือนโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ[9] พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จเลี่ยงไปประทับที่พระราชวังเนเซสซินาเดส ในขณะที่เจ้าชายอฟอนโซ พระปิตุลาและองค์รัชทายาทของพระองค์ได้เสด็จไปประทับที่ป้อมปราการที่คัสคาอิส[10] จากเหตุการณ์ฆาตกรรมมิเกล บอมบาร์ดา ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้เรียกระดมพลอย่างเร่งด่วนในกลางดึกของวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2453[11] เจ้าหน้าที่บางคนต่อต้านไม่เข้าชุมนุมเพราะอาจเกรงกลัวกำลังทหารที่เข้มแข็ง แต่พลเรือเอก คาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิส ทหารฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้ยืนยันว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้น โดยเขากล่าวว่า

A Revolução não será adiada: sigam-me, se quiserem. Havendo um só que cumpra o seu dever, esse único serei eu ("การปฏิวัติจะเกิดขึ้นไม่ล่าช้า ตามข้าพเจ้ามาถ้าท่านต้องการ ถ้าจะมีคนหนึ่งที่ปฏิบัติตามหน้าที่นี้ หนึ่งในนั้นย่อมเป็นข้าพเจ้า")[12][13]— คาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิส

ต่อมาพลเรือเอกคาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิสได้ก่ออัตวินิบาตกรรมหลังจากการที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักโดยเชื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะไม่สำเร็จ การก่อจลาจลของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมได้เป็นลางบอกเหตุถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในที่สุด[14] ถึงแม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในพรรคสาธารณรัฐนิยมหลายคนจะพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในการจลาจล ด้วยการพยายามทำให้เหมือนว่าการประท้วงประสบความล้มเหลว แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จด้วยความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซาที่ไม่สามารถรวบรวมกำลังทหารได้เพียงพอที่จะควบคุมกองกำลังฝ่ายปฏิวัติจำนวนเกือบสองร้อยคนซึ่งทำการต่อต้านที่จัตุรัสโรทุนดา[15]

พระมหากษัตริย์เสด็จออกจากลิสบอน

พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกสในปีพ.ศ. 2453

หลังจากมีการเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกับประธานาธิบดีบราซิล เอร์เมส เดอ ฟอนเซกา พระเจ้ามานูแวลได้เสด็จกลับมายังพระราชวังเนเซสซินาเดสทรงประทับกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทต่างๆไม่กี่คน โดยพระองค์ทรงเล่นบริดจ์กับพวกเขา[16] ในขณะที่ฝ่ายปฏิวัติเริ่มทำลายอาคารบ้านเรือน[17] พระมหากษัตริย์ทรงพยายามใช้โทรศัพท์แต่ทรงพบว่าสายโทรศัพท์ถูกตัด ซึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระราชชนนีซึ่งในขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเปนา หลังจากนั้นกองทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้มาถึงที่เกิดเหตุและสามารถเอาชนะการโจมตีของฝ่ายปฏิวัติในบริเวณนั้นได้

ในระหว่างวันที่ 4 และ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2453 การปฏิวัติได้อุบัติขึ้นทั่วท้องถนนกรุงลิสบอน เป็นการทำรัฐประหารที่เริ่มต้นโดยทหารและมีการเข้าร่วมจากฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่เทศบาลในการโจมตีกองทหารรักษาพระองค์ที่มีความจงรักภักดีและโจมตีพระราชวัง ในขณะที่ปืนใหญ่จากเรือรบได้เข้ามาระดมยิง ในเวลา 9 นาฬิกาของวันที่ 4 ตุลาคมพระเจ้ามานูแวลทรงได้รับโทรศัพท์จากประธานรัฐสภาให้พระองค์เสด็จลี้ภัยไปประทับในเมืองมาฟราหรือซินทรา ตั้งแต่เมื่อมีการขู่จากฝ่ายปฏิวัติว่าจะทำการระเบิดพระราชวังเนเซสซินาเดส พระเจ้ามานูแวลทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกไป ทรงมีพระราชดำรัสในสถานการณ์นั้นว่า

ท่านไปเถอะถ้าต้องการ ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้บทบาทอื่นใดแก่ข้าพเจ้าเลยนอกเหนือจากการให้ข้าพเจ้าถูกฆ่าตาย ข้าพเจ้าก็จะยอมปฏิบัติตามนั้น[18]— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส

ด้วยการเคลื่อนมาถึงของกองกำลังจากเกลุซ โดยได้เข้ามาตั้งค่ายในสวนของพระราชวังซึ่งอยู่ในเขตที่สามารถระดมยิงเขตทหารเรือฝ่ายปฏิวัติได้ซึ่งตั้งอยู่ไม่เกิน 100 เมตรจากพระราชวัง อย่างไรก็ตามก่อนที่พวกเขาจะได้ปฏิบัติการ ผู้บัญชาการของกองกำลังได้รับคำสั่งให้ยกเลิกการระดมยิงและให้รวมกองกำลังกับกองทัพที่กำลังออกไปจากพระราชวัง เป็นการรวมกองกำลังเป็นขบวนซึ่งจะทำการโจมตีฝ่ายปฏิวัติในกองทหารปืนใหญ่ที่หนึ่งและจัตุรัสโรทุนดา ในเวลาประมาณเที่ยงวัน เรือลาดตระเวน อดามัสตอร์ และ เซาราฟาเอล ซึ่งจอดทอดสมออยู่ตรงหน้าเขตของทหารเรือในชั่วโมงก่อนหน้านี้ ได้เริ่มระดมยิงพระราชวังเนเซสซินาเดสเพื่อลดทอนกำลังใจของกองทัพราชวงศ์ในขณะนั้น พระเจ้ามานูแวลทรงเข้าไปหลบในบ้านเล็กๆบริเวณสวนของพระราชวังซึ่งพระองค์สามารถติดต่อกับนายกรัฐมนตรีอันโตเนียว เทเซรา เดอ เซาซาได้ ซึ่งฝ่ายปฏิวัติได้ตัดเพียงสายโทรศัพท์พิเศษแต่ไม่ได้ตัดสายเครือข่ายโทรศัพท์ทั่วไป พระเจ้ามานูแวลทรงมีพระบัญชาให้นายกรัฐมนตรีส่งกองกำลังมาจากเกลุซมาที่พระราชวังเพื่อให้ขัดขวางการขึ้นบกของทหารเรือ แต่นายกรัฐมนตรีได้ตอบพระองค์ว่าการก่อการหลักๆอยู่ที่จัตุรัสโรทุนดาและทหารทั้งหมดที่ประจำอยู่ที่นั่นเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยได้คำนึงถึงว่ากองกำลังที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะปราบปรามฝ่ายปฏิวัติในจัตุรัสโรทุนดา นายกรัฐมนตรีได้ทางเลือกที่ชัดเจนแก่พระองค์ว่าควรจะเสด็จมายังซินทราหรือมาฟราเพื่อให้กองกำลังประจำการพระราชวังสามารถไปเสริมกำลังทัพที่โรทุนดา

เวลา 2 นาฬิกา พระราชพาหนะพร้อมพระเจ้ามานูแวลที่ 2 และคณะที่ปรึกษาของพระองค์ได้ออกเดินทางไปยังมาฟรา ที่ซึ่งโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบจะให้กองกำลังมากพอที่จะถวายการอารักขาพระมหากษัตริย์ ในขณะที่จะถึงเขตเบ็นฟิกา พระเจ้ามานูแวลทรงปล่อยให้กองทหารของเทศบาลที่ซึ่งถวายการอารักขาพระองค์ไปทำการต่อสู้กับฝ่ายปฏิวัติ กองกำลังอารักขาได้มาถึงมาฟราในเวลา 4 นาฬิกาตอนบ่ายและทรงประทับที่พระราชวังมาฟรา แต่ก็พบปัญหา เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ทหารในโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบมีเพียง 100 นายเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ว่าจะมีถึง 800 นายและบุคคลที่รับผิดชอบคือ พันเอก ปินโต เดอ โรชา ซึ่งไม่มีความตั้งใจที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์[19] ในขณะเดียวกัน ที่ปรึกษา ฌูเอา เดอ อเซวีโด โคทินโฮ ได้เดินทางมาถึงและได้แนะนำพระเจ้ามานูแวลทูลเชิญ สมเด็จพระราชชนนี พระพันปีหลวงอเมลีและสมเด็จพระอัยยิกามาเรีย เพียผู้ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเปนาและพระราชวังซินทราในซินทรา และเพื่อเตรียมการเสด็จไปยังโปร์ตูที่ซึ่งมีความต้านทาน

ในกรุงลิสบอน การเสด็จออกไปของพระเจ้ามานูแวลไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงตั้งแต่กองกำลังปลดปล่อยส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามพระบัญชาที่ให้เดินทางไปจัตุรัสรอซซิโอเพื่อปราบปรามศูนย์กลางของกองทหารปืนใหญ่ฝ่ายปฏิวัติในอัลคันทารา

ชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติ

การประกาศสถาปนาสาธารณรัฐโดยฌูเซ เรลวาสบนระเบียงศาลาว่าการกรุงลิสบอนในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2453

ในกลางคืนของวันที่ 4 ตุลาคม ขวัญกำลังใจของทหารฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ลดลงขณะตั้งอยู่ที่จัตุรัสรอซซิโอ เนื่องมาจากการถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายกองทัพเรือ ในที่สุดฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ประกาศยุติการต่อสู้และเป็นชัยชนะของฝ่ายสาธารณรัฐ

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 ตุลาคม ในเวลา 9 โมงเช้า สาธารณรัฐได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยฌูเซ เรลวาส[20]บนระเบียงของปาโซโดกอนเซโล (ศาลาว่าการกรุงลิสบอน) รัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกเสนอชื่อโดยสมาชิกพรรคสาธารณรัฐโปรตุเกสโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกครองประเทศจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับการอนุมัติ

น่าแปลกที่ปฏิกิริยาความนิยมต่อเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้น ภาพของจัตุรัสเบื้องหน้าศาลาว่าการกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นสถานที่ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐ ไม่ได้มีผู้แสดงความนิยมอย่างล้นหลามและแม้กระทั่งในกองทัพยังกลัวว่าการปฏิวัติของพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ นายพลของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่ได้กล่าวไปแล้วคือ พลเรือเอกคาร์ลอส กันดีโด ดอส เรอิสได้ก่ออัตวินิบาตกรรมหลังจากการที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างหนักโดยเชื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะไม่สำเร็จ

การปฏิวัติที่เกิดขึ้นนับจากผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีการระบุไว้ว่าจนถึง 6 ตุลาคม มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปฏิวัติถึง 37 คนโดยระบุจากศพในห้องเก็บศพ หลายคนได้รับบาดเจ็บและถูกส่งมาที่โรงพยาบาลซึ่งหลังจากนั้นบุคคลเหล่านั้นก็เสียชีวิต ตัวอย่างเช่นจำนวนผู้บาดเจ็บที่มีการตรวจสอบจากโรงพยาบาลเซาฌูเซมีจำนวน 78 คน โดยที่มี 14 คนเสียชีวิตในวันต่อๆมา[21]

การลี้ภัยออกจากประเทศของพระราชวงศ์

พระเจ้ามานูแวลที่ 2 พร้อมพระราชวงศ์ทรงรอดพระชนม์ชีพจากการปฏิวัติมาได้โดยการเสด็จหนีด้วยเรือยอชท์หลวงที่ชายฝั่งเอริเซรา โดยมีประชาชนชาวโปรตุเกสที่อยากรู้อยากเห็นมองมาจากด้านบนของหน้าผา

ในเมืองมาฟรา ตอนเช้าของวันที่ 5 ตุลาคม พระมหากษัตริย์ทรงได้รับแผนการเดินทางไปยังโปร์ตู เป็นการกระทำที่ยากจะดำเนินการออกไปเนื่องจากทรงไม่ได้รับการคุ้มกันอีกต่อไปแล้วและศูนย์กลางการปฏิวัตินับไม่ถ้วนได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ในเวลาประมาณเที่ยงวัน ประธานสภาเทศบาลแห่งมาฟราได้รับข้อความจากผู้ว่าราชการคนใหม่ซึ่งมีคำสั่งให้เปลี่ยนธงชาติมาเป็นธงสาธารณรัฐ หลังจากนั้นไม่นานผู้บังคับการของโรงเรียนปฏิบัติการทหารราบยังได้รับโทรเลขจากผู้บัญชาการคนใหม่ซึ่งมีการชี้แจงถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ สถานะของพระราชวงศ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนต่อไปแล้ว

การแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ปรากฏขึ้นเมื่อมีข่าวว่าเรือยอชท์ชื่อ อเมเลีย (Amélia) ได้จอดทอดสมออยู่บริเวณใกล้เคียงที่เอริเซรา โดยในเวลาบ่ายสองเรือยอชท์ได้นำเจ้าชายอลอนโซ พระปิตุลาของพระมหากษัตริย์และเป็นองค์รัชทายาทในราชบัลลังก์มาจากป้อมปราการคัสคาอิส และทรงรู้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงประทับอยู่ที่มาฟรา ได้มาทอดสมอที่เอริเซรา ซึ่งเป็นที่ที่ใกล้ที่สุด พระเจ้ามานูแวลทรงทราบถึงการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐและพระองค์จะต้องถูกจองจำ พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปยังโปร์ตู พระราชวงศ์และกลุ่มผู้ติดตามบางส่วนได้เดินทางไปที่เอริเซราโดยทรงประทับเรือประมงสองลำและทรงปรากฏพระองค์ต่อประชาชนที่อยากรู้อยากเห็นความเป็นไปของพระราชวงศ์ และพระราชวงศ์ได้เสด็จขึ้นเรือยอชท์หลวง[22]

ขณะประทับอยู่บนเรือ พระองค์ทรงเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของพระองค์ว่า

เรียนคุณเทเซรา เดอ เซาซา ข้าพเจ้าถูกบังคับในสถานการณ์ที่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องขึ้นประทับบนเรือพระที่นั่ง "อเมเลีย" ข้าพเจ้าจะเป็นชาวโปรตุเกสและจะเป็นตลอดไป ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าเสมอมาในฐานะพระมหากษัตริย์ในทุกสถานการณ์ และข้าพเจ้าได้นำทั้งหัวใจและชีวิตของข้าพเจ้าเพื่อการรับใช้ประเทศชาติ ข้าพเจ้าหวังว่าสิทธิและการอุทิศตัวของข้าพเจ้าจะได้รับการยอมรับ! โปรตุเกสจงเจริญ! โปรดนำจดหมายของข้าพเจ้านี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่าที่ท่านสามารถกระทำได้— พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส[23]

หลังจากทรงมั่นพระทัยว่าเรือพระที่นั่งจะไปถึงปลายทาง พระมหากษัตริย์ทรงประกาศว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะไปยังโปร์ตู พระองค์ทรงพบปะกับสภาที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่และคณะผู้เดินทาง ผู้บัญชาการเอ็กเนโล เวเลซ คัลเดรา คัสเตโล บรานโกและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฌูเอา จอร์เก มอเรรา เด ซา ไม่เห็นด้วยกับพระราชวินิจฉัยของพระองค์ โดยพวกเขาได้อ้างว่าโปร์ตูนั้นอยู่ไกลออกไป อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ได้มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะเข้าทอดสมอในที่ที่แตกต่างกัน[24] พระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยหรือไม่พระองค์ก็ทรงถูกบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางที่พระองค์ประสงค์ให้มาเป็นแบบเดิม[25] แม้ว่าพระเจ้ามานูแวลจะทรงยืนกรานอย่างไรก็ตามหัวหน้าเจ้าหน้าที่ได้โต้แย้งพระองค์ว่าพวกเขาต้องนำพาพระราชวงศ์ทั้งหมดซึ่งหน้าที่หลักของพวกเขาคือต้องคุ้มครองพระชนม์ชีพของทุกพระองค์ ท้ายที่สุดคณะเดินทางได้เลือกที่จะเทียบท่าที่ยิบรอลตาร์ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพบว่าแม้กระทั่งเมืองโปร์ตูพ่ายแพ้และไปเข้าร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐนิยม เป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีคำสั่งให้เรือที่เป็นทรัพย์สินของโปรตุเกสเดินทางกลับไปยังลิสบอนทั้งหมด พระมหากษัตริย์ที่ทรงถูกถอดถอนจำต้องดำรงตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ในการถูกเนรเทศ[26] นับได้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารได้ประสบความสำเร็จและพระราชวงศ์ถูกเนรเทศ[27] โดยเสด็จถึงสหราชอาณาจักรที่ซึ่งพระองค์ทรงได้รับเชิญจากพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้ามานูแวลที่ 2 แห่งโปรตุเกส http://www.mafra.net/ericeira/index.php http://www.laicidade.org/wp-content/uploads/2008/0... http://www.regicidio.org http://www.citi.pt/cultura/historia/personalidades... http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=00635 http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=00725 http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=034854 http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=034855 http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=040981 http://www.fmsoares.pt/aeb/crono/id?id=040983